การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ท่านแนะนำให้ทำต่อเนื่องทุกวัน โดยท่านแนะให้เดินจงกรมก่อนทุกครั้ง แล้วประคองสติต่อจากการ เดินจงกรม ลงนั่งสมาธิ
(๑) ท่านั่ง - สำคัญตรงไม่นั่งพิงอะไร
การนั่งสมาธิแบบวิปัสสนา ต้องดูสัปปายะคือดูความเหมาะสมพอดีของตน จะนั่งเก้าอี้หรือนั่งขัดสมาธิกับพื้นโดยมีอาสนะบางๆ รอง หรือจะนั่งท่าหนึ่งท่าใดที่สบายแก่ตนก็ได้ (แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน)
ดังนั้น จะนั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ หรือว่าจะนั่งกับพื้นขัดสมาธิอยู่ หรือจะนั่งท่าใดๆ ก็ตาม ก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือ พยายามไม่นั่งพิง คือ พยายามนั่งให้หลังไม่พิงกับอะไร เพราะว่าตรงนี้สำคัญ คือ การเจริญสติอยู่นั้น ถ้าเมื่อได้หลังค้อมก้มลงมาข้างหน้า หรือหลังหงายไปไม่ตั้งตรงอยู่ ก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้เผลอสติไป ดังนั้น การไม่นั่งพิงอะไร จะทำให้ดำรงสติอยู่ได้เสมอ และเมื่อเผลอหลับก็ตาม ตกภวังค์ก็ตาม หรืออาการใดๆ เกิด ที่ทำให้หลังไม่ตั้งตรงทรงอยู่อย่างมั่นคง ก็จะได้รู้ตัว และมีสติ ตั้งหลังให้ตรงอยู่เสมอๆ
(๒) การกำหนดสติ
ในการนั่งสมาธิแบบวิปัสสนา จะเป็นการมีสติดูอาการใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นของกายก็ตาม ใจก็ตาม (คือ ที่ตาก็ตาม หู จมูก ลิ้น กายหรือใจก็ตาม) ในขณะนั้นๆ ในวินาทีนั้นๆ กล่าวคือ อะไรเด่นชัด ชัดเจนที่สุด ก็ดูตรงนั้นไปเรื่อยๆ อาทิ ถ้ากายปรากฏชัดเจน ก็เอาสติไปดูกาย ไปเรื่อยๆ ถ้าอาการพองยุบที่ท้องชัดเจน ก็มีสติตามรู้อาการไปเรื่อยๆ ถ้าการกระทบ อาทิ กายส่วนใดที่กำลังกระทบพื้นชัดเจน ก็มีสติ ตามดูตามรู้ไปเรื่อยๆ ถ้ามีเสียงใดๆ มากระทบหู (โสตปสาทหรือประสาทหู) ชัดเจน ก็กำหนดรู้ หรือถ้าเกิดความคิดนึกใดๆ ชัดเจน ก็กำหนดรู้ความคิดนึกนั้นๆ ถ้าเวทนาเกิด เช่นทุกข์หรือสุขทางกายหรือใจก็ตามเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ทุกข์หรือสุขนั้นๆ ไปเรื่อยๆ
(๓) นิมิต ปีติ นิวรณ์ วิปัสสนูปกิเลส
ขณะนั่งสมาธิอยู่ พยายามรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ อาจจะเกิดเห็นภาพต่างๆ ขึ้นมาทางตา เป็นภาพต้นไม้ป่าเขา สถานที่ สวรรค์ นรก ภูติผีปีศาจ เทวดา ฯลฯ ใดๆ ก็ตาม ก็เพียงกำหนดรู้ว่าเห็น แล้วก็กลับมาสติในกายและใจต่อไป โดยไม่ต้องสนใจภาพต่างๆ ที่เห็นนั้น ไม่ต้องนั่งคิดวิเคราะห์ต่อว่าเป็นภาพอะไร เป็นใคร อยู่ที่ไหน ไม่ต้องอยากรู้เรื่องต่อ ไม่ต้องตามไปดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ฯลฯ เพียงกำหนดรู้ว่ามีภาพ (สี หรือ รูปภายนอก) มากระทบกับ ตา (จักขุปสาท หรือ ประสาทตา ซึ่งเป็น รูปภายใน) เท่านั้น อันนี้คือ ‘นิมิต’ นิมิตนี้จะมาในรูปของภาพต่างๆ มาเกิดทางตาก็ได้ มาในรูปของเสียง กลิ่น รส ฯลฯ ก็ได้ หน้าที่ของผู้เจริญสติเจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ก็เพียงมีสติกำหนดรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นมากระทบกับตา หรือ หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น แล้วก็ไม่ต้องสนใจต่อนิมิตนั้นๆ ต่อ หันกลับมาเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อม ในอาการอื่นๆ ตรงกายก็ตามหรือใจก็ตามที่กำลังปรากฏชัด ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น