ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เริ่มนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา หากแต่ในอาณาเขตประเทศไทย พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี ทั้งยังมีหลักฐานของอารยธรรมและรัฐโบราณในอาณาเขตดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
อาณาจักรสุโขทัยซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1781 ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ยังมี แต่เสถียรภาพของอาณาจักรได้อ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ อาณาจักรอยุธยาก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 1893 มีความยิ่งใหญ่กว่าอาณาจักรสุโขทัยเดิม เนื่องจากมีการติดต่อกับชาติตะวันตก ก่อนจะล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2310 พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ ต่อมา แม้จะมีการเสียดินแดนหลายครั้งให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่อาณาจักรสยามก็ไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก กุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายพันธมิตร ทำให้สยามได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ อันนำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา โดยมีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านการก่อรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเกิดวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น